จิราพร แจง ‘สว.’ ชัดๆ ยันนายกฯ ให้ความสำคัญคดีดิไอคอน ขอเวลา 30 วัน ตรวจสอบปมเทวดา ยันไม่ละเว้นแน่นอน ขอให้พยานหลักฐานเป็นคนตอบ
เมื่อวันที่ 28 ต.ค. ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มี พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม วาระกระทู้ถามด้วยวาจา โดยนายสุนทร พฤกษพิพัฒน์ สว. ถามน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เรื่องธุรกิจหลอกลวงประชาชน โดยนายกฯมอบหมายให้ น.ส.จิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ตอบแทน
นายสุนทร ตั้งคำถามว่า เราจะจริงจังหรือยังที่จะป้องกันไม่ให้เกิดธุรกิจหลอกลวงประชาชนได้อย่างไร ตั้งแต่ปี 2525 จนถึงปัจจุบัน ผ่านมา 40 กว่าปี ก็ยังหลอกลวง จับได้ หนีไป หลุดไปอยู่ตลอด ตัวอย่างเช่นแชร์แม่ชม้อย ที่ถือเป็นคดีแรก ตอนนั้นตนยังเด็กฟังข่าวว่าแม่ชม้อยถูกจำคุกนับแสนปี ฟังดูน่ากลัวมาก แต่ปรากฏว่าจำคุกจริงเพียง 11 ปีเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีแชร์ชาร์เตอร์ , แชร์บลิสเซอร์ , แชร์ก๋วยเตี๋ยวบางกอก , UFUN , แชร์คอร์สสัมมนา , แชร์โชกุน , FOREX 3D จนมาถึง ดิไอคอน ซึ่งแชร์เหล่านี้ จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาใช้ดารา อินฟลูเอนเซอร์มาหลอกประชาชน
“ในกรณีดิไอคอน ล่าสุดนี้มีคำว่าเทวดา ผมก็ไม่รู้ว่าเป็นเทวดาตบทรัพย์หรืออย่างไร หรือเป็นซาตาน ผีปอบ สุดท้ายเราไม่รู้ว่าเทวดาจะหนีรอดอีกหรือไม่ มาจนถึงพระ หลอกลงทุนไปที่แชร์แครอท ต้องบอกว่าถึงเวลาที่จริงจังหรือยัง ทำอย่างไรไม่ให้เกิดเรื่องเหล่านี้ขึ้นมา ไม่ใช่ปล่อยให้เกิดขึ้นมาแล้วไปไล่จับ” นายสุนทร กล่าว
นายสุนทร ถามต่อว่า ทุกกรณีมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง มีคนมีศักดิ์มีศรีเข้าไปเกี่ยวข้อง รัฐบาลมีวิธีการจัดการอย่างไร เทวดามีจริงหรือไม่ และมีแนวทางการป้องกันก่อนเกิดเหตุอย่างไร
ด้านน.ส.จิราพร ชี้แจงว่า นายกฯให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง โดยได้มีข้อสั่งการถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงาน เพื่อช่วยเร่งสางปมคดีที่เกิดขึ้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.)ได้เปิดศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ตั้งแต่วันที่ 10 ต.ค. ที่ผ่านมา เปิดให้ทุกสน.รับแจ้งข้อหา ได้ระดมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ช่วยร่วมสนับสนุนข้อมูลให้สอบสวนโดยเร็ว ขณะที่ สคบ. ได้เรียกประชุมเรื่องนี้ รวมถึงยึดโล่รางวัลคืนจากดิไอคอน มีการบูรณาการร่วมกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) มีการยึดอายัดทรัพย์สิน จะเห็นได้ว่าล่าสุดมีประชาชนเข้ามาแจ้งความ 9,000 รายแล้ว มูลค่าความเสียหาย 2,000 กว่าล้านบาท ซึ่งเข้าเงื่อนไขที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จะรับไปดำเนินการต่อ ซึ่งเป็นไปตาม พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)สอบสวนคดีพิเศษ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยสคบ.จะสนับสนุนข้อมูลในฐานะพยาน
ส่วนเรื่องเทวดา สคบ.นั้น น.ส.จิราพร กล่าวว่า เรื่องนี้มาจากการเผยแพร่คลิปเสียงที่อ้างว่าเคลียร์กับผู้เสียหายได้ โดยเปิดเผยมาตั้งแต่วันที่ 10 ต.ค. ยืนยันว่าไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นว่ามีกรณีนี้เกิดขึ้นจริงหรือไม่ มีการปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ เสนอเรื่องไปยังนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลอยู่ ซึ่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริง และคลิปเปิดเมื่อวันที่ 10 ต.ค. และวันที่ 16 ต.ค.ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ถ้าท่านดูไทม์ไลน์ จะเห็นว่าใช้ระยะเวลาไม่ถึง 1 อาทิตย์ ในการตั้งกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเด็นนี้
ตามโครงสร้างของคณะกรรมการนี้จะเห็นได้ว่าเป็นคนนอกทั้งหมด เราไม่ได้ให้คนในตรวจกันเอง เราใช้กรรมการจากคนนอกที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะอาญาเข้ามาอยู่ในโครงสร้าง มีทั้งตัวแทน อัยการ ปปง. ดีเอสไอ สตช. เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรมกับทุกฝ่ายมากที่สุด ระหว่างกรอบเวลาที่จะสืบหาข้อเท็จจริงนี้ 30 วัน และคณะกรรมการก็ประชุมทันที โดยคณะกรรมการชุดนี้ยังตั้งอนุกรรมการขึ้นมา 2 คณะ ได้แก่ คณะในการสืบหาข้อเท็จจริง และคณะที่ศึกษาปัญหาข้อจำกัดในการทำธุรกิจขายตรงหรือแบบตรง ซึ่งจะเข้ามาดูตั้งแต่ขั้นตอนการขอใบอนุญาต ข้อบังคับต่างๆ
“ดิฉันต้องเรียนว่าการให้ความกระจ่างของสังคมเรื่องเทวดา สคบ. ตอนนี้ได้เริ่มดำเนินการค้นหาข้อเท็จจริงแล้ว ถ้าปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีบุคคลใดที่กระทำผิด กฏหมาย ก็จะต้องมีการดำเนินการอย่างเต็มที่ ไม่ละเว้นแน่นอน ให้พยานหลักฐานเป็นคนให้คำตอบในประเด็นนี้” น.ส.จิราพร กล่าว
น.ส.จิราพร กล่าวต่อว่า แนวทางการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคตนั้น เรื่องนี้รัฐบาลให้ความตระหนักเป็นอย่างดี ส่วนที่ตนกำกับคือ สคบ.ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ถือกฎหมาย พ.ร.บ.ธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง ได้สั่งการให้ไปตรวจสอบและเชิญมาให้ข้อมูล รวมถึงสั่งการให้ทบทวนข้อกฎหมาย เพื่อให้เป็นการดำเนินการเชิงรุก แต่เรื่องที่เกิดขึ้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับ สคบ. เพียงอย่างเดียว การทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จะต้องมีการร่วมมือกับหน่วยงานอื่น เช่น กระทรวงการคลัง อย. กฤษฎีกา สตช.
“ดิฉันสั่งการให้ไปดูหลังบ้าน เพิ่มความร่วมมือกับหน่วยงานเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สคบ.มีคนค่อนข้างจำกัด ดังนั้นการนำเทคโนโลยีเข้ามาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้ โดยเฉพาะการติดตาม ประเมินผล ถือเป็นสิ่งสำคัญ ที่ผ่านมา สคบ. ได้รับงบประมาณในการประชาสัมพันธ์ค่อนข้างน้อย” นางสาวจิราพร กล่าว
นายสุนทร ถามอีกว่า อยากฝากแนวทางการป้องกัน 5 ข้อ 1.การเพิ่มโทษ 2.การแก้ไขอายุความ 3.การจัดการบูรณาการ ขยายกรอบการทำงาน แบบ One Stop Alert 4.การตรวจสอบคนที่อวดรวยผิดปกติ และ 5.การสร้างกระแสสังคมที่ถูกต้องจากการทำงาน ไม่ใช่ฝันข้ามคืน
“เทวดาพวกนี้มันหายตัวไว ถ้าหัวไม่ส่ายหางก็ไม่กระดิก สิ่งสำคัญคือผู้นำรัฐบาลเอาจริงหรือไม่” นายสุนทร กล่าว
น.ส.จิราพร ชี้แจงว่า เรื่องดิไอคอน ที่มีการร้องเรียนตั้งแต่ปี 2561 แต่ยังไม่คืบหน้า เป็นเพราะขณะนั้นยังมีข้อจำกัดเรื่องกฎหมาย แต่ต่อมาก็มีการสนับสนุนข้อมูล ประสานไปยังหน่วยงานต่างๆ เรื่อง One Stop Alert รัฐบาลก็จริงจังกับเรื่องนี้…