สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ตอบคำถาม ผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 สามารถ ” เบิกเงินชราภาพมาใช้ก่อนอายุ 55 ปี ได้หรือไม่ ” โดยระบุ เงินสะสมเงินชราภาพ เริ่มมีการเก็บเงินสมทบตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2541 เป็นต้นไป จะมีสิทธิได้รับเงินคืน แต่จะต้องสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนแล้ว และมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ ถึงแม้ว่าสถานะจะสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนไปแล้วก็ตาม จะต้องรอให้อายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ก่อนถึงจะสามารถยื่นเรื่องรับสิทธิได้
ซึ่งผู้ประกันตนหากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม แนะนำติดต่อผ่านช่องทางต่างๆดังนี้
– ระบบสนทนาออนไลน์ ( facebook inbox , live chat ,Line @ssothai )
– สายด่วน 1506 กด 1 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
สำหรับเงินชราภาพจะแบ่งออกเป็น 2 แบบ ดังนี้
1. เงินบำเหน็จชราภาพ จะได้รับเงินก้อนครั้งเดียว มี 2 เงื่อนไข
– จ่ายเงินสมทบน้อยกว่า 12 เดือน ได้รับเงินจำนวนเท่าที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบไป
– จ่ายเงินสมทบมากกว่า 12 เดือน แต่ไม่ถึง 180 เดือน รับจำนวนเงินเท่าที่ผู้ประกันตนจ่าย+เงินสมทบนายจ้าง+ผลประโยชน์ตอบแทน
2. เงินบำนาญชราภาพ จะได้รับเงินรายเดือนตลอดชีวิต มี 2 เงื่อนไข
– จ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน ได้รับเงินเท่ากับ 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย
– จ่ายเงินสมทบมากกว่า 180 เดือน ได้รับเงินเพิ่มอีกปีละ 1.5%
กรณีผู้ประกันตนเสียชีวิตภายใน 60 เดือน นับแต่เดือนที่ได้รับเงินชราภาพ ให้จ่ายเงินบำเหน็จแก่ทายาทจำนวน 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพเดือนสุดท้าย
เงื่อนไขการเกิดสิทธิกรณีบำเหน็จชราภาพ ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน
เงื่อนไขการเกิดสิทธิกรณีบำนาญชราภาพ ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 180 เดือน
เงื่อนไขในการรับสิทธิเงินชราภาพ
1. เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39
2. อายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ หรือความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
3. เป็นผู้ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต (เฉพาะบำเหน็จ)
เอกสารสำคัญที่ต้องเตรียมยื่นที่สำนักงานประกันสังคม
– สำเนาบัตรประชาชน
– แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ สปส. 2-01
– สำเนาสมุดบัญชีเงินฝาก ประเภทออมทรัพย์ หากมีพร้อมเพย์ที่ลงทะเบียนเลขบัตรประชาชนก็สามารถใช้ได้เหมือนกัน
สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสังคม ได้ที่ www.sso.go.th หรือโทรสายด่วน 1506 ให้บริการทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง