“องุ่นไชน์มัสแคท”ทั่วกทม.-ปริมณฑล พบสารพิษตกค้าง74% ดูดซึมเข้าเนื้อองุ่น

กรณีตรวจเจอ สารพิษตกค้างในองุ่นไชน์มัสแคท กว่า 50 ชนิด โดยในวันที่ 24 ต.ค.67 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย. ) ได้แถลงผลทดสอบสารเคมีเกษตรในองุ่นไชน์มัสแคท

โดย การเก็บตัวอย่างองุ่นไชน์มัสแคทครั้งนี้ ก็บองุ่นไชน์มัสแคททั้งหมด 24 ตัวอย่าง จาก 15 สถานที่จำหน่ายในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล เก็บตัวอย่างในวันที่ 2 และ 3 ตุลาคม 2567 อาสาสมัครเก็บตัวอย่างองุ่นไชน์มัสแคทจากสถานที่จำหน่ายตามแผนการเก็บตัวอย่าง โดยเลือกซื้อทั้งแบบแพกเกจที่มีการระบุยี่ห้อ (ฉลากระบุผู้นำเข้า ผู้จัดจำหน่าย) และแบบวางขายในชั้นวางของแหล่งจำหน่ายโดยไม่ได้ระบุยี่ห้อ

ซึ่งมีราคาตั้งแต่กิโลกรัมละ 100 ถึง 699 บาท ดังนั้นบางตัวอย่างอาจพบว่า เป็นยี่ห้อที่ซ้ำกัน แต่ก็มาจากแหล่งจำหน่ายต่างสถานที่กัน”

ซึ่ง ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) อธิบายถึงกระบวนการวิเคราะห์และแปลผลว่า เราได้ส่งตัวอย่างองุ่นไชน์มัสแคททั้ง 24 ตัวอย่าง ไปยังห้องปฏิบัติการ BVAQ ซึ่งได้การรับรอง ISO 17025 เพื่อวิเคราะห์หาสารพิษตกค้างจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช โดยมีขอบเขตการวิเคราะห์สารพิษตกค้าง 419 รายการ และแปลผลการวิเคราะห์โดยอ้างอิงพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 387 , 393, 419 และ 449) เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง ซึ่งกำหนดให้อาหารที่มีสารพิษตกค้างต้องมีมาตรฐาน

โดยตรวจไม่พบวัตถุอันตรายทางการเกษตร ชนิดที่ 4 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย เว้นแต่วัตถุอันตรายทางการเกษตรชนิดอื่นให้เป็น ดังนี้ 1) ปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด (Maximum Residue Limit; MRL) 2) ปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดโดย Codex Alimentarius Commission (Codex MRL) โดยใช้เกณฑ์การจำแนกกลุ่มสินค้าเกษตรตามมาตรฐานสินค้าเกษตร มกษ. 9045-2559 การจัดกลุ่มสินค้าเกษตร: พืช 3) ค่าดีฟอลต์ลิมิต (default limit) และ 4) ปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดที่ปนเปื้อนจากสาเหตุที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ (Extraneous Maximum Residue Limit; EMRL)

.ข้อค้นพบสำคัญของการเฝ้าระวังสารพิษตกค้างองุ่นไชน์มัสแคท ได้แก่

1. ประเทศผู้ผลิตองุ่นไชน์มัสแคท 24 ตัวอย่าง ที่สุ่มซื้อมาจากการสั่งออนไลน์ 2 ตัวอย่าง มาจากร้านค้าและตลาด 7 ตัวอย่าง และจากโมเดิร์นเทรด 15 ตัวอย่าง สามารถระบุได้เพียง 9 ตัวอย่างว่ามาจากประเทศจีน อีก 15 ตัวอย่างไม่สามารถระบุแหล่งที่มาได้

2. 95.8% ของตัวอย่างองุ่นไชน์มัสแคทหรือ 23 จาก 24 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่าที่กฎหมายกำหนด แบ่งเป็น 2 กรณี 1) องุ่น 1 ตัวอย่าง พบสารคลอร์ไพริฟอสซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ทั้งนี้ตามกฎหมายต้องตรวจไม่พบเนื่องจากยกเลิกค่า MRL แล้ว 2) องุ่นอีก 22 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้าง 14 ชนิด เกินค่าดีฟอลต์ลิมิต

(สารพิษตกค้างที่ไม่มีค่า MRL ตามกฎหมายกำหนดให้พบได้ไม่เกินค่าดีฟอลต์ลิมิต 0.01 mg/kg) ซึ่งสารเหล่านี้อาจยังไม่มีการประเมินความปลอดภัย ได้แก่ Procymidone, Imazalil, Thiamethoxam, Tetraconazole, Chlorfenapyr, Flonicamid, Ethirimol, Pyriproxyfen, Lufenuron, Bupirimate, Prochloraz, Hexaconazole, Bromacil และ Isopyrazam

3.พบสารพิษตกค้างทั้งหมด 50 ชนิด พบว่าเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 จำนวน 26 ชนิด เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (ยกเลิกการใช้ในประเทศไทย) จำนวน 2 ชนิด ได้แก่ Chlorpyrifos และ Endrin aldehyde และเป็นสารที่อยู่นอกบัญชีวัตถุอันตรายมากถึง 22 ชนิด ซึ่งเป็นสารที่ยังไม่มีการประเมินใดๆภายใต้กฎหมายไทย ได้แก่ Triasulfuron, Cyflumetofen, Chlorantraniliprole, Flonicamid, Etoxazole, Spirotetramat, Bifenazate, Dinotefuran, Fluopyram, Boscalid, Fluopicolide, Pyrimethanil, Ametoctradin, Tetraconazole, Ethirimol, Metrafenone, Fludioxonil, Bupirimate, Isopyrazam, Oxathiapiprolin, Biphenyl และCyazofamid

4.จากสารพิษตกค้าง 50 ชนิด มีสารประเภทดูดซึม (Systemic pesticide) 37 ชนิด หรือคิดเป็น 74% ของสารพิษตกค้าง โดยสารกลุ่มนี้มีโอกาสตกค้างอยู่ในเนื้อเยื่อขององุ่น ซึ่งการล้างสารกลุ่มนี้ออกจากเนื้อเยื่อพืชคงไม่ใช่เรื่องที่ทำได้โดยง่าย

5. องุ่นไชน์มัสแคทแต่ละตัวอย่างพบสารพิษตกค้างระหว่าง 7-18 ชนิด โดยจำนวน 23 จาก 24 ตัวอย่างพบสารพิษตกค้างเกินค่าที่กฎหมายกำหนด 1-6 ชนิด